เช่าซื้อรถยนต์อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด
1. รถยนต์ สำหรับรถยนต์คงต้องเป็นเรื่องความพึงพอใจของเจ้าของเพราะรถยนต์จะเป็น ทรัพย์สินและผูกพันกับเจ้าของไปนานพอสมควรหลักการพิจารณาคงจะไม่กล่าวถึงมาก นัก แต่ก็ไม่ควรละเลยในเรื่องของราคาในอนาคต เพราะเป็นที่ทราบดีว่าราคารถยนต์ เมื่อผ่านไปประมาณ 1 ปี ราคาจะลดลงประมาณ 25% และลดลงอีกประมาณ 10% ในปีต่อไป จึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยนี้ประกอบ ถ้าหากไม่ต้องการให้สินทรัพย์ของเราด้อยค่าลงไปมาก นอกจากนั้นต้องคำนึงถึงค่าบำรุงรักษา ค่าอะไหล่รถยนต์ที่จะเกิดขึ้นในระยะอีก 2-3 ปี หลังจากซื้อรถยนต์และใช้งานไปแล้ว แต่ปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงมากน่า จะเป็นเรื่องค่าน้ำมัน เพราะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เมื่อราคาน้ำมันเบนซินลอยตัว และในอนาคตหากราคาน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลต้องการจะให้ลอยตัวอีก ย่อมกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์แน่นอน ฉะนั้นก็ต้องลองคำนวณค่าใช้จ่ายกันให้ดี เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นภาระในระยะยาว
2. เงื่อนไขสำหรับเช่าซื้อรถยนต์ มีข้อพิจารณาที่ควรคำนึงถึง ดังนี้อัตราดอกเบี้ย เป็นที่รู้กันดีว่าดอกเบี้ยเช่าซื้อในบ้านเราเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ เรียกว่า Flat Rate ในความเป็นจริงผู้เช่าซื้อควรรับรู้ว่าอัตราดังกล่าวต้องแปลงเป็นดอกเบี้ย ที่แท้จริง หรือที่เรียกกันว่า Effective Rate ก่อน เราจะได้รู้ว่าจริงแล้วภาระดอกเบี้ยที่แท้จริง คือเท่าใด ตัวอย่างถ้าดอกเบี้ยที่บริษัทให้เช่าซื้อคิดที่ 3.0% (Flat Rate) ดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือ Effective Rate ควรจะอยู่ที่6.0% (โดยประมาณ) ซึ่งเราก็จะเปรียบเทียบได้ว่า การกู้ด้วยวิธีเช่าซื้อดีกว่าการหาแหล่งเงินกู้ด้วยวิธีอื่นหรือไม่ เช่นการกู้แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
(Floating Rate) ที่มีการชำระค่างวดแล้วสามารถลดต้นลดดอกเบี้ยได้ แต่ก็มีความเสี่ยง ถ้าในอนาคตอัตราดอกเบี้ยสูง ภาระดอกเบี้ยก็จะสูงตาม ผิดกับเช่าซื้อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ก็ไม่ต้องรับความเสี่ยงถ้าอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่จะกู้ก็ดูกันนิดว่า ดอกเบี้ยอยู่ระหว่างขาขึ้นหรือขาลง
ระยะเวลาการกู้ ควรจะเลือกระยะเวลาไม่นานนัก ทั้งนี้เวลาที่เหมาะสมควรประมาณ 48 งวดหรือ4 ปีเพราะการกู้ระยะยาวก็มีผลดีในแง่ภาระค่างวดน้อยจัดการเรื่องเงินได้ง่าย แต่ดอกเบี้ยก็จะมากเป็นเงาตามตัว แม้ว่าในระหว่างทางเราสามารถเอาเงินไปลดภาระหนี้ได้ โดยปิดบัญชีก่อนกำหนด ตามหลักทั่วไปสามารถที่จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยส่วนที่เหลือประมาณ 50% แต่เราก็ถูกคำนวณดอกเบี้ยตามระยะเวลาสัญญาระบุไว้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ถึงได้ส่วนลดก็ยังถูกคำนวณดอกเบี้ยไปแล้ว
เงินดาวน์ ถือเป็นเงินทุนก้อนแรก ที่ผู้ซื้อรถยนต์ต้องจัดหามาเองก่อน ซึ่งเงินดาวน์จะเป็นตัวปรับความสามารถในการผ่อนชำระค่างวด เพราะถ้ามีเงินก็ควรวางดาวน์สูงหน่อย ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการเงินหลาย ๆ แห่ง จะกำหนดไว้ที่ 20-25% ของราคารถยนต์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกำลังเงินของผู้ซื้อ และเงินดาวน์ก็จะช่วยในเรื่องดอกเบี้ยได้เช่นกัน เพราะถ้าวางเงินดาวน์รถยนต์สูงโอกาสที่จะเสียดอกเบี้ยก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำ จะทำให้ไม่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยไปในตัว ข้อสังเกตสำหรับการซื้อรถยนต์ในปัจจุบันมักจะเห็นโฆษณา ดาวน์ 0% หรือดาวน์ต่ำ 50,000 บาท หรือ 60,000 บาท ก็ให้คำนึงว่า ในความเป็นจริง Campaign ต่าง ๆ เหล่านี้ มักจะซ่อนภาระให้ผู้กู้โดยเราไม่รู้ตัว
ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ประเด็นนี้ ผู้เช่าซื้อมีโอกาสเลือกได้เพราะปัจจุบันผู้ขายรถยนต์ ก็จะมีการแถมประกันภัยให้ แต่ถ้าไม่มีของแถมก็เลือกเบี้ยประกันภัยที่สมเหตุสมผล ต้องอ่านรายละเอียดในกรมธรรม์ให้ครบถ้วน เพราะบางกรณีเบี้ยประกันภัยถูกแต่ความคุ้มครองก็น้อยลง ซึ่งบางครั้งเราคำนึงถึงของแถม โดยไม่สนใจว่าเงื่อนไขจะได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง จะรู้ตัวเมื่อเกิดเหตุแล้วเรียกร้องทีหลังมักจะไม่คุ้มค่า
ผู้ให้เช่าซื้อหรือที่เราเรียกติดปากว่า บริษัทไฟแนนซ์ ซึ่งก็มีหลากหลาย ส่วนใหญ่ผู้เช่าซื้อก็จะได้แรงเชียร์จาก เซลส์ขายรถยนต์ซึ่งก็ไม่น่าที่จะมีปัญหาอะไร แต่ควรพิจารณาหรือศึกษาแต่ละแห่งในเรื่องการให้บริการ การติดต่อ ตลอดจนการบริการหลังการขายว่ามีการให้บริการที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
สำหรับ ผู้บริโภคที่กำลังมองหารถยนต์ไว้ใช้งานหรือประกอบอาชีพ และยังต้องพึ่งพาเงินกู้ ก็จะได้มีแง่คิดเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ เพราะสุดท้ายเมื่อตัดสินใจแล้วก็ให้ถือว่าได้คิดครบถ้วนแล้ว และให้ถือเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับเราก็น่าพอใจแล้ว
อนุชาติ ดีประเสริฐ
สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย